การคิดค่าไฟฟ้า สำหรับบ้านที่อยู่อาศัย
อัตราค่าไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย มีทั้งหมด 8 ประเภท ได้แก่
1. บ้านที่อยู่อาศัย
2. กิจการขนาดเล็ก
3. กิจการขนาดกลาง
4. กิจการขนาดใหญ่
5. กิจการเฉพาะอย่าง
6. องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร
7. สูบน้ำเพื่อการเกษตร
8. ไฟฟ้าชั่วคราว
ไม่ว่าเราจะใช้ไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) หรือ การไฟฟ้าภูมิภาค (กฟภ.) อัตราค่าไฟฟ้าจะเท่ากันทั้ง 8 ประเภท โดยในวันนี้เราจะมาพูดถึงประเภทที่ 1 (บ้านที่อยู่อาศัย) กัน ว่ามีวิธีคำนวณค่าไฟฟ้าอย่างไร
องค์ประกอบของการคิดค่าไฟฟ้า ประกอบด้วย
1. อัตราค่าไฟฟ้า
2. ค่า FT
3. ค่าบริการ
อัตราค่าไฟฟ้าสำหรับบ้านที่อยู่อาศัย จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทย่อยๆ ได้แก่
1 อัตราปกติสำหรับใช้พลังงานไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วย/เดือน
2 อัตราปกติสำหรับการใช้พลังงานไฟฟ้าเกินกว่า 150 หน่วย/เดือน
3 อัตราตามช่วงเวลาของการใช้ (Time of Use, TOU)

รูปที่ 1 อัตราปกติสำหรับใช้พลังงานไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วย/เดือน

รูปที่ 2 อัตราปกติสำหรับการใช้พลังงานไฟฟ้าเกินกว่า 150 หน่วย/เดือน

รูปที่ 3 อัตราตามช่วงเวลาของการใช้ (Time of Use, TOU)
จากรูป 1 – 3 จะสังเกตได้ว่า อัตราปกติจะมีรูปแบบเป็นขั้นบันได ยิ่งใช้มาก ยิ่งจ่ายแพง (คล้ายๆภาษีบุคคลธรรมดา รายรับยิ่งมาก อัตราภาษียิ่งสูง) ส่วนอัตรา TOU จะแบ่งอัตราค่าไฟฟ้าออกเป็น 2 ช่วงเวลา ได้แก่ On Peak ซึ่งอัตราค่าไฟฟ้าจะสูงมาก และ Off Peak อัตราค่าไฟฟ้าจะถูกมาก
ค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ ที่เรียกสั้นๆว่า ค่า FT (Float Time) เป็นค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงเพื่อการผลิตไฟฟ้า ที่เปลี่ยนแปลงไปจากระดับที่กำหนดไว้ในค่าไฟฟ้าฐาน โดยค่า FT มีการปรับปรุงทุกๆ 4 เดือน หากค่า FT เป็นบวก นั่นหมายถึง เราต้องจ่ายเงินเพิ่มจากปกติ แต่ถ้าค่า FT เป็นลบ เราก็จ่ายเงินลดลง
ตัวอย่างที่ 1 การคิดค่าไฟฟ้ากรณีใช้พลังงานไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วย/เดือน
บ้านนาย A มีการใช้พลังงานไฟฟ้า 120 หน่วย/เดือน ค่า FT = -0.1243 บาท/หน่วย (ณ เดือน ก.ย. 2563)
วิธีการคิดค่าไฟฟ้า
ค่าไฟฟ้าหน่วยที่ 1-15 = 15 (หน่วย) x 2.3488 (บาท/หน่วย) = 35.23 บาท
ค่าไฟฟ้าหน่วยที่ 16-25 = 10 (หน่วย) x 2.9882 (บาท/หน่วย) = 29.88 บาท
ค่าไฟฟ้าหน่วยที่ 26-35 = 10 (หน่วย) x 3.2405 (บาท/หน่วย) = 32.41 บาท
ค่าไฟฟ้าหน่วยที่ 36-100 = 65 (หน่วย) x 3.6237 (บาท/หน่วย) = 235.54 บาท
ค่าไฟฟ้าหน่วยที่ 101-120 = 20 (หน่วย) x 3.7171 (บาท/หน่วย) = 74.34 บาท
ผลรวมค่าไฟฟ้า = 407.40 บาท
ค่า FT = 120 (หน่วย) x (-0.1243) (บาท/หน่วย) = -14.92 บาท
ค่าบริการ = 8.19 บาท
รวม = ผลรวมค่าไฟฟ้า + ค่า FT + ค่าบริการ
= 407.40 + (-14.92) + 8.19
= 400.67 บาท
ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% = 400.67 x 7% = 28.05 บาท
รวมเงินที่ต้องชำระ = 400.67 + 28.05 = 428.72 บาท/เดือน

รูปที่ 1 อัตราปกติสำหรับใช้พลังงานไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วย/เดือน
ตัวอย่างที่ 2 การคิดค่าไฟฟ้ากรณีใช้พลังงานไฟฟ้าเกินกว่า 150 หน่วย/เดือน
บ้านนาย B มีการใช้พลังงานไฟฟ้า 1000 หน่วย/เดือน ค่า FT = -0.1243 บาท/หน่วย (ณ เดือน ก.ย. 2563)
วิธีการคิดค่าไฟฟ้า
ค่าไฟฟ้าหน่วยที่ 1-150 = 150 (หน่วย) x 3.2484 (บาท/หน่วย) = 487.26 บาท
ค่าไฟฟ้าหน่วยที่ 151-400 = 250 (หน่วย) x 4.2218 (บาท/หน่วย) = 1,055.45 บาท
ค่าไฟฟ้าหน่วยที่ 401-1000 = 600 (หน่วย) x 4.4217 (บาท/หน่วย) = 2,653.02 บาท
ผลรวมค่าไฟฟ้า = 4,195.73 บาท
ค่า FT = 1000 (หน่วย) x (-0.1243) (บาท/หน่วย) = -124.30 บาท
ค่าบริการ = 38.22 บาท
รวม = ผลรวมค่าไฟฟ้า + ค่า FT + ค่าบริการ
= 4,195.73 + (-124.30) + 38.22
= 4,109.65 บาท
ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% = 4,109.65 x 7% = 287.68 บาท
รวมเงินที่ต้องชำระ = 4,109.65 + 287.68 = 4,397.33 บาท/เดือน

รูปที่ 2 อัตราปกติสำหรับการใช้พลังงานไฟฟ้าเกินกว่า 150 หน่วย/เดือน
ตัวอย่างที่ 3 การคิดค่าไฟฟ้ากรณีใช้มิเตอร์อัตราตามช่วงเวลาของการใช้ (Time of Use, TOU)
บ้านนาย C ซึ่งเป็นพนักงานออฟฟิต มีการใช้พลังงานไฟฟ้า 1000 หน่วย/เดือน โดยแบ่งตามช่วงเวลาได้ดังนี้
-มีการใช้พลังงานไฟฟ้า ช่วง On Peak (จ-ศ. เวลา 9.00-22.00 น.) 300 หน่วย/เดือน
-มีการใช้พลังงานไฟฟ้า ช่วง Off Peak (จ-ศ. เวลา 22.00-9.00 น. และ ส-อา. เต็มวัน) 700 หน่วย/เดือน
-ค่า FT = -0.1243 บาท/หน่วย (ณ เดือน ก.ย. 2563)
วิธีการคิดค่าไฟฟ้า
ค่าไฟฟ้าช่วง On Peak = 300 (หน่วย) x 5.7982 (บาท/หน่วย) = 1,739.46 บาท
ค่าไฟฟ้าช่วง Off Peak = 700 (หน่วย) x 2.6369 (บาท/หน่วย) = 1,845.83 บาท
ผลรวมค่าไฟฟ้า = 3,585.29 บาท
ค่า FT = 1000 (หน่วย) x (-0.1243) (บาท/หน่วย) = -124.30 บาท
ค่าบริการ = 38.22 บาท
รวม = ผลรวมค่าไฟฟ้า + ค่า FT + ค่าบริการ
= 3,585.29 + (-124.30) + 38.22
= 3,499.21 บาท
ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% = 3,499.21 x 7% = 244.94 บาท
รวมเงินที่ต้องชำระ = 3,499.21 + 244.94 = 3,744.15 บาท/เดือน

รูปที่ 3 อัตราตามช่วงเวลาของการใช้ (Time of Use, TOU)
เมื่อเปรียบเทียบการคิดค่าไฟฟ้าจากตัวอย่างที่ 2 และ 3 จะพบว่า ถ้าช่วงเวลากลางวันต้องออกจากบ้านไปทำงาน แล้วกลับมาอีกทีตอนกลางคืน การเลือกมิเตอร์ประเภท TOU จะประหยัดค่าไฟฟ้ากว่าอัตราปกติ ทั้งๆที่มีการใช้พลังงานไฟฟ้าต่อเดือนเท่ากัน แล้วคุณล่ะ เลือกอัตราค่าไฟฟ้าเหมาะสมกับบ้านตัวเองหรือยัง ?
ZERO ENERGY มีเปิดสอนการคิดค่าไฟฟ้าและเลือกอัตราค่าไฟฟ้าให้เหมาะสมสำหรับบ้านที่อยู่อาศัย อาคาร และ โรงงานอุตสาหกรรม สามารถดูรายละเอียดหลักสูตรได้ที่เพจ “อบรมอนุรักษ์พลังงาน”
เรียบเรียงข้อมูลโดย: ชลทศ ประเทืองสุขพงษ์
อ้างอิง
https://www.mea.or.th (1 ต.ค. 2563)